เปิดตำรา นวัตกรรม “แม่น้ำเมคคานิกา” ต้นตำรับระบบคลังสินค้าอัจฉริยะสัญชาติไทย

ขึ้นชื่อว่านวัตกรรม ไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าที่จะพัฒนาขึ้นมาได้ แต่ “แม่น้ำเมคคานิกา” โดยคุณรุ่งรัตน์ ศิริรัตนาพานิชย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ สามารถฝันฝ่าอุปสรรคและความท้าทายสารพัน จนสามารถปักหมุดและยืนหยัดในฐานะต้นตำรับระบบคลังสินค้าอัจฉริยะสัญชาติไทยได้เป็นผลสำเร็จ โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมที่พลิกโฉมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทย คือ การสนับสนุนจาก บพข.

แรงบันดาลใจจากเยอรมนี สู่การปั้น “แม่น้ำเมคคานิกา

คุณรุ่งรัตน์บอกถึงจุดกำเนิดของบริษัท แม่น้ำเมคคานิกา จำกัดว่า “เกิดจากการไปดูงานแสดงสินค้าที่ประเทศเยอรมนีมาเมื่อราว 20 ปีที่ผ่านมา แล้วเห็นว่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในขณะนั้นรุดหน้ามากแล้ว จากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ความรวดเร็วในการให้บริการ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ในด้านนี้ที่ล้ำสมัย อีกทั้งเห็นได้ชัดเจนว่าประเทศไทยยังเดินตามหลังในด้านนี้อยู่ จึงคิดว่าน่าจะมีโอกาส จึงกลับมาเปิดบริษัทแม่น้ำเมคคานิกา เมื่อปี 2001 เพื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับระบบ ASRS หรือ Automated Storage/Retrieval System อย่างจริงจัง โดยเป็นผู้วางระบบที่ให้บริการเต็มรูปแบบสำหรับคลังสินค้าอัจฉริยะ ดูแลตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการสนับสนุนหลังการขาย”

นอกจากนี้ ยังให้บริการเกี่ยวกับระบบจัดเก็บอัตโนมัติอื่นๆ นอกจาก ASRS ได้แก่ รถยก (ETV), ระบบรถนำทางอัตโนมติ (AGV) และระบบสายพานลำเลียง ให้บริการสายพานลำเลียงและหุ่นยนต์ทุกประเภท รวมถึงระบบคัดแยก, ระบบรวม (ระบบควบคุมแบบบูรณาการ) รวมถึงบริการจัดการวัสดุต่างๆ

“เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ภาพรวมของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในบ้านเราทุกอย่างยังคงทำด้วยแรงงานคนเป็นหัวใจหลัก และโลจิสติกส์เป็นต้นทุนขนาดใหญ่ของประเทศไทย และยังไม่มีใครคิดว่าจะมาเป็น Key to success ของธุรกิจได้เลย เพราะในอดีตถูกตีเป็นค่าใช้จ่าย ไปแสดงอยู่ในงบการเงิน ผู้บริหารส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญ ไม่ได้มองว่าเป็นเครื่องมือหรือโซลูชั่นในการสร้างรายได้เพิ่มให้กับบริษัท แต่ปัจจุบันโลจิสติกส์มีความรวดเร็ว ต้นทุนในการแข่งขันก็ดีขึ้นมาก ทั้งยังเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายความอยู่รอดของกิจการ ยิ่งเมื่อเกิดโรคระบาดโควิด-19 เป็นกลยุทธ์หลักขององค์กร ทั้งๆ ที่ เมื่อ 20 ปีที่แล้วไม่มีใครพูดถึงหรอกว่าแผนโลจิสติกส์จะต้องเป็นหนึ่งในแผนธุรกิจหลักของบริษัท แต่เพียงแค่ในรอบ 20 ปี จากการที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจากรวดเร็ว มีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากมาย ทำให้พลิกโฉมหน้ากิจกรรมด้านโลจิสติกส์ไปอย่างคาดไม่ถึง จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับบรรดาธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย”

เจาะ “อุตสาหกรรมโลจิสติกส์” ตลาดใหญ่ที่หอมหวานและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ด้วยภูมิหลังในการเป็นวิศวกรของ คุณรุ่งรัตน์ ซึ่งจบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เธอมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเข้าใจถึงความสำคัญและโอกาสอุตสาหกรรมโลจิสติกส์นี้ได้อย่างชัดเจน เพราะโลจิสติกส์เป็นตลาดใหญ่มาก โอกาสทางธุรกิจสูงมาก ชอบทำอะไรใหม่ๆ ชื่นชอบในนวัตกรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี และเชื่อว่าหากทำในสิ่งเหล่านี้ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จจึงไม่น่าจะไกลเกินเอื้อม

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นปี 2564 มีจำนวนธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทย ที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 36,733 ราย และมีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจโลจิสติกส์ 48,743.73 ล้านบาท หรือ 10.2% ของการลงทุนในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งหมด

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนการเปิดกิจการมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ การอำนวยความสะดวกของท่าเรือ การขนส่งทางระบบท่อลำเลียง และตัวแทนดำเนินพิธีการศุลกากร มีสัดส่วน 14.2% 11.7% และ 11.4 ของจำนวนธุรกิจโลจิสติกส์ที่เปิดใหม่ทั้งหมด ตามลำดับ โดยธุรกิจการขนส่งทางบกและธุรกิจรับส่งพัสดุ มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สนค.ประเมินว่าภาคโลจิสติกส์ของไทยมีศักยภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีโอกาสขยายตัวอีกมากในปี 2565 ตามการฟื้นตัวของการบริโภค โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้สดจากไทยไปจีน ทั้งทุเรียน มังคุด และลำไย ซึ่งเป็นโอกาสทองของการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Logistics)

 

ไม่ทำธุรกิจแบบหว่านแห เลือกโฟกัสเฉพาะด้านที่ถนัดและเชี่ยวชาญเท่านั้น

หนึ่งในหัวใจสำคัญของโลจิสติกส์คือ “ระบบบริหารคลังสินค้าอัจฉริยะ และระบบอัตโนมัติครบวงจร” จากการที่โลจิสติกส์อยู่ในทุกซัพพลายเชน เมื่อเราจะพูดถึงโลจิสติกส์ก็ต้องเข้าใจซัพพลายเชนด้วย โดยซัพพลายเชนเกี่ยวข้องตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการผลิตไปจนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค และโลจิสติกส์ก็เป็นทุกขั้นตอนที่นำพาจากขั้นตอนแรกไปยังขั้นตอนต่างๆ กระทั่งสิ้นสุดซัพพลายเชน แต่คุณรุ่งรัตน์บอกว่าแม่น้ำแมคคานิกา ไม่ได้ตั้งเป้าจะเป็นบริษัทโลจิสติกส์ที่ทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะทั้งซัพพลายเชนมีขนาดใหญ่มาก จึงเลือกที่จะโฟกัสเฉพาะในส่วนที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และประเทศไทยยังขาดแคลน นั่นคือ “ระบบบริหารคลังสินค้าอัจฉริยะและระบบอัตโนมัติครบวงจร” นั่นเอง

สำหรับประเทศพัฒนาต่างๆ มีระบบบริหารคลังสินค้าอัจฉริยะและระบบอัตโนมัติครบวงจรมานานแล้ว โดยคาดว่าน่าจะมีสัดส่วนสูงถึง 70% ขณะที่คลังสินค้าแบบดั้งเดิมมีสัดส่วนเพียง 30% เท่านั้น แต่ในประเทศไทยสัดส่วนดังกล่าวมีความผกผันกัน และสัดส่วนของคลังสินค้าแบบดั้งเดิมอาจจะมีเพียง 20% ด้วยซ้ำไป เพียงแค่มีหลังคากันแดดกันฝน แต่กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในคลังสินค้าจะขับเคลื่อนด้วยแรงงานคนล้วน ๆ เพราะฉะนั้นตลาดนี้ยังมีโอกาสอีกมากที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย

ขนส่งด่วนมาแรง ผนวกปัจจัยหนุนจากโควิด-19 ดันคลังสินค้าอัจฉริยะพุ่ง

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความท้าทายซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่หลวง คือ มักจะเกิดคำถามอยู่เสมอว่าการลงทุนในด้านนี้จะคุ้มค่าจริงหรือไม่ อีกทั้งผู้บริหารจำนวนไม่น้อยยังขาดความเข้าใจ และวิศวกรส่วนใหญ่ไม่มีทักษะในการสื่อสารเหมือนกับนักการตลาดที่จะสื่อสารให้กับผู้บริหารตระหนักถึงความสำคัญของคลังสินค้าอัจฉริยะได้ เราจึงต้องใช้เวลามหาศาลในการสื่อสารให้กับทุกแผนกในองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าใจถูกต้องตรงกัน”

ปัจจุบันอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังใช้คลังสินค้าแบบดั้งเดิมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์ไฮเทคหรืออุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ ฯลฯ จะมีเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกิดใหม่ร้อนแรง เช่น ขนส่งสินค้าด่วน เพราะตลาดเติบโตเร็วแบบก้าวกระโดดไม่สามารถหาแรงงานคนได้ทัน ผู้ประกอบการทุกรายในอุตสาหกรรมนี้จึงใช้คลังสินค้าอัจฉริยะกันอย่างแพร่หลาย แต่น่ายินดีที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาก่อนหน้าก็เริ่มหันมาให้ความสนใจที่จะใช้คลังสินค้าอัจฉริยะมากขึ้นเป็นลำดับ เพราะผู้บริหารหลายรายเริ่มเปลี่ยนมุมมองว่าหากตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าหรือผู้บริโภคไม่ทันการณ์ ย่อมหมายถึงการสูญเสียโอกาสในการขายและรายได้อย่างน่าเสียดาย ทำให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของคลังสินค้าอัจฉริยะว่าไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่บริษัทต้องแบกรับโดยไม่เกิดประโยชน์

โซลูชั่นคลังสินค้าอัจฉริยะไทย เด่นในเรื่องการให้บริการที่ใกล้ชิด

จากการที่คลังสินค้าอัจฉริยะจะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของธุรกิจ ทำให้เป็นโอกาสทองสำหรับโซลูชั่นคลังอัจฉริยะของไทย เนื่องจากมีความเข้าอกเข้าใจความต้องการของลูกค้ามากกว่าผู้ให้บริการโซลูชั่นคลังอัจฉริยะจากต่างประเทศ เพราะอยู่ใกล้ชิดกับลูกค้าตลอดเวลา แม้ผู้ประกอบการต่างชาติบางรายจะมี Communication partner แต่ก็ไม่ใช่เพื่อนที่ร่วมเดินทางเคียงข้างไปด้วยกัน เวลาเครื่องจักรหรือโซลูชั่นเสียหายจะต้องซ่อมแซม ก็จะเกิดความยุ่งยากตามมา โดยเฉพาะการให้บริการที่ทันท่วงที และที่สำคัญเมื่อลูกค้าต้องการขยายธุรกิจ จากการที่ร่วมหัวจมท้ายด้วยกันมาตั้งแต่แรกอย่างใกล้ชิด เข้าใจในสภาพความเป็นไปของตลาดและ Pain point ของลูกค้าเป็นอย่างดี ทำให้ผู้ให้บริการโซลูชั่นคลังอัจฉริยะของไทยสามารถให้คำปรึกษาและช่วยคิดว่ามีอะไรที่ควรจะเติมเต็มหรือพัฒนาเพิ่มเติมบ้าง

 

ชู “นวัตกรรม” นำโซลูชั่นระบบคลังอัจฉริยะ และระบบอัตโนมัติครบวงจร เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้า

แม่น้ำเมคคานิกาถือเป็นผู้ประกอบการรายแรกของไทยที่ให้บริการด้านนี้มานานกว่า 20 ปี ทำให้รู้จักและเข้าใจปัญหาเกี่ยวกับระบบคลังอัจฉริยะ และระบบอัตโนมัติครบวงจรเป็นอย่างดี จากการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านมาอย่างเคี่ยวกรำ รวมถึงความเชี่ยวชาญของช่างเทคนิคต่างๆ ที่ได้รับการหล่อหลอมและเพิ่มทักษะให้เท่าทันเทคโนโลยีต่าง ๆ อยู่เสมอ ตลอดจนนวัตกรรมที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของแม่น้ำเมคคานิกา จึงทำให้ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าจำนวนมาก โดยมีลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ อีคอมเมิร์ซ ศูนย์กลางการกระจายสินค้า อาหารและเครื่องดื่ม ขนส่งสินค้าทางอากาศ สินค้าอุปโภคบริโภค ไอทีและแอปพลิเคชั่น ห้องเย็นและห้องแช่แข็ง ไปรษณีย์และพัสดุ ยาและการแพทย์ รวมการจัดเก็บยานยนต์และอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น

“เราไม่ได้ซื้อโซลูชั่นใครมาและเอามาดัดแปลง แต่ทุกโซลูชั่นพัฒนาและออกแบบมาให้กับลูกค้าแต่ละรายโดยเฉพาะ นำข้อมูลต่างๆ ของลูกค้ามาวิเคราะห์เพื่อหาข้อบกพร่องและปัญหาเพื่อนำเสนอโซลูชั่นที่ใช่ให้กับลูกค้า โดยจะเป็นลูกผสมเพื่อให้การลงทุนจับต้องได้เหมาะกับสถานะทางการเงินของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี”

ASRS ที่ออกแบบมาด้วยความเข้าใจผู้ประกอบการไทยอย่างแท้จริง

คุณรุ่งรัตน์บอกถึงสาเหตุที่ ASRS ของแม่น้ำเมคคานิกา ตอบโจทย์ผู้ประกอบการไทยได้อย่างตรงจุดว่า “โรงงานในประเทศไทยมีขนาดเล็กกว่าในจีนและยุโรปมาก เพราะที่จีนผลิตหลักหมื่นชิ้นขึ้นไปต่อ SKU แต่บ้านเรามากสุดก็หลักพัน เปรียบเทียบกันไม่ได้ ความหลากหลายของสินค้าก็เยอะแต่ปริมาณแต่ละโมเดลก็ไม่น้อย ที่จีนทำโรงงานละโมเดลเลยก็ได้ ดังนั้นจะลงทุนระบบอัตโนมัติแบบไหนก็คุ้ม แต่ของไทยก็ต้องปรับตัวและมีความยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับศักยภาพและแนวทางธุรกิจที่ชัดเจน โดยต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมจะต้องลงทุนระบบคลังสินค้าอัจฉริยะ ช่วยแก้ไขปัญหาอะไร ช่วยสร้างรายได้อย่างไร และมีจุดลงทุนแค่ไหนจึงจะเหมาะสม แต่ก็จะมีลูกค้าบางประเภทที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่รู้ว่าต้องการอะไรแน่ชัดอยู่แล้ว มี TOR มาเลย ต้องไปประมูลมา แต่เราไม่ค่อยได้ไปประมูลงานประเภทนี้เท่าไหร่ จะเน้นงาน Tailor made มากกว่า”


ตัวอย่างลูกค้าในปัจจุบันของแม่น้ำเมคคานิกา ได้แก่ โรงพิมพ์ธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่สองที่ทำร่วมกับแบงก์ชาติ กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ในเครือไทยเบฟเวอเรจ และมีโครงการคลังอัจฉริยะที่ทำให้กับเวสเทิร์น ดิจิทัล ที่เพิ่งไปพรีเซนต์งานมากับทาง บพข. รวมถึงกลุ่มลูกค้าในอดีตต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียงด้วยกันทั้งสิ้น เช่น โรงน้ำตาลมิตรผล และซีพีเอพ เป็นต้น

“ลูกค้าจะได้ประโยชน์จากการที่เราลดต้นทุน เพิ่มโอกาสและขีดความสามารถในการสร้างรายได้ ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ทางตรง อีกส่วนคือผลประโยชน์ทางอ้อมที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการไทยรายอื่นๆ เพราะงานที่เราทำต้องมีนวัตกรรม เริ่มต้นตั้งแต่มีไฟล์ดาต้าเบส จนคลอดออกมาเป็นโปรเจกต์ เครื่องจักร และรายได้ มันเป็นกระบวนการแปลงจินตนาการให้กลายเป็นจริง ทำให้คนอื่นมองมาเห็นว่าคนไทยทำได้ ทั้งๆ ที่เราเป็นองค์กรที่มีพนักงานไม่ถึง 100 คน แต่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงประเทศได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราทำได้ คนอื่นก็ทำได้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่ากล้าลุกขึ้นมาทำหรือเปล่า”

จุดเปลี่ยนของ ASRS ในประเทศไทย ไม่ง้อระบบต่างประเทศ

ทั้งนี้ แม้ว่าคลังสินค้าอัจฉริยะแม้ว่าจะมีมูลค่าการลงทุนขั้นต้นสูงกว่าการลงทุนสร้างคลังสินค้าแบบเดิม แต่ปัจจุบันจากการที่ระบบ ASRS สามาถผลิตได้ในประเทศไทยทำให้มูลค่าลดต่ำลงกว่าในอดีตที่พึ่งการนำเข้าเพียงอย่างเดียว

“ในอดีต อุปสรรคที่ทำให้ระบบคลังสินค้าอัจฉริยะ และระบบอัตโนมัติครบวงจรในไทยไม่เติบโตเท่าที่ควรจะเป็น เพราะต้องนำเข้าเทคโนโลยีสำหรับระบบ ASRS 100% ทำให้มูลค่าโครงการสูงและควบคุมต้นทุนได้ยาก อีกทั้งกว่าจะคืนทุนก็ใช้เวลายาวนาน จึงไม่เป็นที่นิยม ขณะที่การบำรุงรักษาหรือการซ่อมแซมก็ล่าช้า เพราะต้องรอช่างเทคนิคที่เดินทางมาจากต่างประเทศเท่านั้น มิหนำซ้ำยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาทั้งวิศวกรรมเครื่องกล ไฟฟ้า โยธา และการพัฒนาโปรแกรม”

“ไม่เพียงเท่านี้ ยังช่วยลดพื้นที่ลงได้มากกว่า 2 เท่า ทำให้ Intra logistics ลดลงเยอะมาก และต้นทุนคลังสินค้าอัจฉริยะลดลงไม่น้อยกว่า 30% ทำให้มีจุดคุ้มทุนไม่เกิน 5 ปี ที่สำคัญยังช่วยในเรื่องความแม่นยำและรวดเร็ว แต่จะลดต้นทุนได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับลูกค้าแต่ละราย เพราะปัญหาแต่ละรายมีมากน้อยไม่เท่ากัน แต่ต่อให้ลดแค่ไหนต้นทุนก็ลดได้ไม่เกิน 100% สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือโอกาสในการขาย โอกาสในการสร้างรายได้ จากข้อมูลที่ปรากฎแบบเรียลไทม์ ก็สามารถแจ้งให้ลูกค้าทราบได้ทันทีว่ามีสินค้าที่ต้องการพร้อมส่ง ไม่ต้องเสียเวลาไปเช็คสต็อกสินค้า และค้นหาสินค้าจากชั้นวาง ซึ่ง ASRS ทำให้เห็นชัดเจนว่าความรวดเร็วคือพระเจ้าอย่างแท้จริง”

นอกจากนี้ คุณรุ่งรัตน์ยืนยันถึงประโยชน์ของ ASRS ว่า ถ้าธุรกิจเติบโตเร็วเท่าไหร่ จุดคุ้มทุนยิ่งสั้นลงเรื่อยๆ โดยมีจุดคุ้มทุนไม่เกิน 5 ปี ที่สำคัญการใช้ระบบนี้ยังไม่ใช่แค่ลดแรงงานคน แต่เป็นการลดเวลา ลดโอกาสการสูญเสีย โดยสินค้าจะถูกเบิกตามลำดับ เข้าก่อนออกก่อน เข้าทีหลังออกทีหลังเสมอ ตามโปรแกรมที่ถูกล็อกไว้ แต่ถ้าเป็นแรงงานคนก็ทำตามสะดวก ทำให้มีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดสูง

บพข. ช่วยย่นระยะเวลาการผลิตนวัตกรรม สานฝันนักวิจัยไทยให้เป็นจริง

เป็นที่ทราบกันดีว่างานวิจัยส่วนใหญ่ของประเทศไทยนั้น แม้จะมีจุดเริ่มต้นจากไอเดียที่ดี แต่สุดท้ายมักจะจบลงที่หิ้งเป็นการถาวร แต่จากภารกิจของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นับได้ว่ามีส่วนสำคัญในการแปลงผลวิจัยให้กลายเป็นนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์ได้จริง เช่นเดียวกับผลวิจัยของแม่น้ำเมคคานิกา ที่สามารถแปรเปลี่ยนสู่นวัตกรรม ASRS ที่ดีและมีประสิทธิภาพเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

“ผลผลิตงานวิจัยจากทุน บพข. ชิ้นแรกของแม่น้ำเมคคานิกา คือ การพัฒนาเครนมาวิ่งแทน forklift เพื่อรับสินค้าและส่งไปตามช่องต่างๆ บนชั้นวางสินค้าด้วยตัวมันเอง จากโปรแกรมที่เขียนไว้ มีความชาญฉลาดมากในการทำงาน จากเดิมเรานำเข้าเครนนี้มาจากต่างประเทศ แต่ปัจจุบันนี้คือนวัตกรรมที่เราทำขึ้นได้เองในประเทศไทย”

“นอกจากนี้ ผลผลิตงานวิจัยจากทุน บพข.อีกหนึ่งชิ้นที่น่าภาคภูมิใจ คือ ชั้นวางสินค้า (rack) สีฟ้าที่ออกแบบด้วยซอฟท์แวร์โดยทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ทำยังไงควรจะบอกได้ว่า rack ควรจะมีขนาดเท่าไหร่ถึงจะรองรับน้ำหนักสินค้าที่ต้องการได้ถึงจะไม่ถล่ม แต่ไหนแต่ไรมาเราไม่มีคนที่คำนวณได้ แต่ตอนนี้ทำให้ทุกอย่างกลายเป็นซอฟท์แวร์ คนที่ไม่มีความรู้ด้านนี้ก็สามารถใช้งานได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ใส่แค่ข้อมูลเข้าไปว่าอยากจะใส่สินค้ากี่ชั้น ชั้นละกี่กิโลกรัม จากนั้นแอปพลิเคชั่นนี้ก็จะคำนวณให้เสร็จสรรพว่าจะต้องออกแบบ rack ที่ใช้เสาที่มีขนาดใหญ่เล็กเท่าไหร่ จากนั้นก็นำไปผลิตและติดตั้งเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ขณะเดียวกันก็ยังมีซอฟท์แวร์ที่ใช้ควบคุมระบบทั้งหมด ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ โดยผลผลิตวิจัยทั้งหมดนี้ใช้เวลาทั้งหมดราว 2.5-3 ปี โดยในแต่ละปีจะมีพัฒนาการที่มีความสลับซับซ้อนและมีความลึกของการนำไปใช้มากขึ้นเรื่อยๆ มีเครื่องจักรเข้ามาประกอบมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นระบบที่ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น จากปีแรกที่พัฒนาเครนเตี้ยๆ เพียงแค่ 10 เมตร ก็กำลังพัฒนาเครนที่สูงถึง 24 เมตร สูงเท่ากับตึก 10 ชั้น ซึ่งโปรเจกต์นี้กำลังทำร่วมกับ บพข. ตามแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ในเฟสที่ 2 ซึ่งจะเสร็จสิ้นภายในปี 2565 นี้ เพื่อรองรับคลังสินค้าอัจฉริยะขนาดใหญ่ และมีสินค้าจำนวนมากและหลากหลาย”

“ไม่เพียงเท่านี้ หากเก็บสินค้าไว้แล้วหาไม่เจอจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากจะแก้ไข เพราะสินค้าที่หาไม่เจอก็จะกลายเป็นสินค้าหมดอายุ กลายเป็นขยะ ยิ่งถ้าเป็นอาหารและเครื่องดื่มยิ่งเสียหายหนักมาก ขาดโอกาสในการขาย ขาดรายได้ แต่ด้วยซอฟท์แวร์นี้ที่ออกแบบมาให้ first in/first out เพียงแค่ 1 นาที ก็ได้สินค้าที่ต้องการแล้ว โดยรถ forklift วิ่งหาสินค้าโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีคนวิ่งหาของ ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับการค้นหาสินค้าแบบเดิมก็ใช้เวลาเร็วมากกว่าเท่าตัว ทั้งยังมีความแม่นยำแทบจะ 100% ไม่เคยวางของผิดที่ ส่วนวิธีการเดิมไม่มีทางที่จะแม่นยำได้ถึง 99%”

คุณรุ่งรัตน์ยกตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจนจากการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมนี้เพิ่มเติมว่า “แม่ค้าออนไลน์ขายดีมาก อาจจะใช้เวลาส่งสินค้า 7-14 วัน แต่ถ้าใช้ระบบนี้ใช้เวลาเพียง 1-2 วัน สินค้าก็ถึงมือลูกค้าแล้ว เพราะเมื่อได้รับออเดอร์ รถ forklift ก็จะวิ่งไปหาสินค้าเองเลย จากนั้นก็แค่บรรจุและนำส่งสินค้าให้กับลูกค้า กระบวนการต่างๆ จึงเหลือสั้นๆ แค่นี้เลย”

นอกจากนั้น ความร่วมมือดีๆกับ บพข. ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. ได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวคลังสินค้าอัจฉริยะ อันเป็นความสำเร็จจากงานวิจัย Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ในประเด็นแผนงานวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และแผนงานระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ “ระบบอาคารคลังสินค้าอัจฉริยะและระบบอัตโนมัติ Auto Storage and Retrieval System : ASRS” ภายใต้ความร่วมมือของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อจิลิตี้ จำกัด หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บริษัท แม่น้ำแมคคานิกา จำกัด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เพื่อผลักดันการพัฒนาอาคารคลังสินค้าและระบบอัตโนมัติแบบครบวงจร ด้วย

ธุรกิจไหนบ้างที่ควรใช้ระบบคลังสินค้าอัจฉริยะและระบบอัตโนมัติครบวงจร

ผลลัพธ์จากการใช้ระบบ ASRS คือ สามารถปรับใช้ได้กับทุกธุรกิจ โดยใช้งานได้สะดวกสบาย ช่วยเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพของการบริหารจัดการคลังสินค้า ลดเวลาคัดแยกสินค้า งานเสร็จไว ทั้งยังช่วยลดปัญหาการใช้เครื่องจักรที่ซับซ้อน สร้างโอกาสให้ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีระบบความปลอดภัยสูง และตอบสนองความต้องการของธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญยังมีข้อมูลถูกต้องแม่นยำ ไม่ผิดพลาด รวมถึงเข้าถึงข้อมูลและประมวลผลในระยะไกลได้

คุณรุ่งรัตน์แนะนำว่ากิจการที่มียอดขายค่อนข้างจะเริ่มนิ่ง มีรายได้หลายสิบล้านขึ้นไป หรือตั้งแต่ 20-30 ล้านต่อปีขึ้นไป เหมาะที่จะลงทุนระบบ ASRS แต่หากเป็นกิจการเพิ่งเปิดใหม่ หรือเอสเอ็มอีมีรายได้ที่แน่ชัด แต่มั่นใจว่ามีแนวโน้มจะเติบโตดีก็สามารถลงทุนได้เช่นกัน

สตาร์ทอัพต้องรู้จักอดทน เรียนรู้ที่จะล้มเหลว และไม่ท้อที่จะลุกขึ้นสู้ใหม่

ในฐานะรุ่นพี่สตาร์ทอัพในอดีต คุณรุ่งรัตน์มีคำแนะนำดีๆ สำหรับสตาร์ทอัพน้องใหม่ว่า “จากการที่เคยเป็นสตาร์ทอัพในอดีต เมื่อครั้งเรียนจบใหม่ๆ ก็เปิดบริษัทแม่น้ำเดคคอ เอาสแตนเลสมาทำของแต่งบ้าน แต่ก็เจ๊ง ดังนั้นสตาร์ทอัพต้องรู้จักเจ๊งให้เป็น”

“สตาร์ทอัพต้องทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ มีใจรัก ต้องมีน้ำอดน้ำทน ต้องรู้จักพลาด ล้มได้ ลุกได้ แต่เด็กรุ่นใหม่อาจจะขาดคุณสมบัตินี้ ดังนั้นอย่ายึดติดกับความสำเร็จที่อาจไม่มีอยู่จริง อย่ายึดติดกับตำรา ต้องรู้จักพลิกแพลงได้ในทุกสถานการณ์”

“นอกจากนี้ คนทำธุรกิจทุกคนต้องอาศัยโชคด้วย ไม่ใช่มีวิสัยทัศน์หรือเก่งอย่างเดียว คนจบปริญญาเอกไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกคน คนบางคนต้องการจังหวะเวลาที่ใช่ และโอกาสที่เหมาะสม ต้องมีการตัดสินใจที่ถูกต้อง มีมิตรสหายที่ดี มีกูรู มีผู้ใหญ่ให้คำแนะนำที่ดี โอบอุ้มค้ำชูกันมา มีลูกค้าที่น่ารัก ดังนั้นคนที่จะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้จึงต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่างรวมกัน